รังแค หรือ Dandruff รักษาอย่างไร
คำกล่าวที่ว่า “เส้นผมและหนังศีรษะสามารถบ่งบอกถึงสุขภาพในตัวคุณได้” เป็นเรื่องที่ไม่เกินจริงครับ ผมมีคนไข้หลายคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับหนังศีรษะและเส้นผม ไม่ว่าจะเป็นผมร่วง ผมบาง หนังศีรษะมัน และที่พบได้บ่อยที่สุดคือ อาการคันศีรษะและมีรังแคครับ ซึ่งนอกจากจะทรมานร่างกายแล้ว ยังทำให้เสียบุคลิกและความมั่นใจไปอีกด้วย
รังแค คืออะไร
รังแค หรือ Dandruff มีลักษณะเป็นขุยสีขาวที่หลุดออกมาจากหนังศีรษะ และอาจจะติดอยู่บริเวณเส้นผม โคนผม หรือร่วงลงมาเกาะบริเวณใบหน้า ต้นคอ หรือตามไหล่ ซึ่งจะเห็นเด่นชัดมากหากใส่เสื้อผ้าสีเข้มๆ และมักมีอาการเรื้อรังและน่ารังเกียจ รังแคที่คนส่วนใหญ่เป็นกันไม่ใช่เป็นโรคนะครับ แต่เกิดจากการที่เซลล์บนหนังศีรษะแบ่งตัวมากขึ้นกว่าปกติ เมื่อมีการแบ่งตัวเร็ว จึงมีวัฏจักรชีวิตที่เร็ว และหลุดตัวออกเร็วขึ้น รังแคอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของผมร่วงได้ถ้าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา เพราะเมื่อมีอาการคันก็จะเกา ซึ่งอาจทำให้หนังศีรษะอักเสบ และผมบางลงได้
รังแค อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น จากฮอร์โมนบางชนิดในร่างกาย ความเครียด ความผิดปกติของระบบเมทาบอลิซึม การแพ้เครื่องสำอาง เช่น แชมพู น้ำยาดัดผม เป็นต้น หรือสิ่งกระตุ้นจากภายนอกสภาพสิ่งแวดล้อม เช่น ความชื้น และสภาพอากาศ ลองนำผ้าหรือกระดาษสีเข้มๆมาปู ก้มศีรษะ แล้วขยี้เส้นผมและหนังศีรษะเบาๆ สังเกตดูลักษณะของรังแคที่ร่วงหลุดมา โดยแบ่งรังแคได้เป็น 2 ประเภทครับ
รังแคผมแห้ง เป็นผงเล็กๆคล้ายแป้ง เกิดจากหนังศีรษะแห้ง สาเหตุอาจมาจากความเครียด สภาพอากาศที่แห้ง การที่เส้นผมและหนังศีรษะโดนแสงแดดบ่อยๆ หรือการใช้แชมพูหรือผลิตภัณฑ์แต่งผมที่มีฤทธิ์แรงเกินไป รวมทั้งสารเคมีที่ใช้ย้อมผม ดัดผมด้วย
รังแคผมมัน มีลักษณะเป็นชิ้นใหญ่กว่าหรือเป็นก้อน และมีความชื้น มักพบในคนผิวมันและพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อาจเกิดจากการก่อตัวของยีตส์หรือเชื้อราบนหนังศีรษะ ซึ่งทำให้รังแคมีความชื้น หรืออาจมีกลิ่นหืนเล็กน้อย
คนไข้ที่มีปัญหาเรื่องรังแคส่วนมากมักจะมีรังแคผมแห้ง และซึ่งมักเกิดจากแชมพูและครีมแต่งผมครับ ดังนั้นขอแนะนำให้เลือกใช้แชมพูที่มีฤทธิ์อ่อนๆ เช่น แชมพูเด็กได้ก็ดี ไม่ระคายเคืองเส้นผมและหนังศีรษะ แถมยังโนมอร์เทียร์ส ไม่ทำให้แสบตาอีกด้วย ที่สำคัญอย่าลืมล้างออกให้สะอาดทุกครั้งที่สระผม
แม้รังแคส่วนใหญ่เกิดจากการระคายเคืองแพ้ของหนังศีรษะ แต่ก็พบว่ามีโรคบางอย่างที่ก่อให้เกิดรังแคได้ เช่น โรคที่มีฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์มากกว่าปกติ และโรคมะเร็งของต่อมน้ำเหลือง รังแคไม่ใช่โรคผิวหนังก็จริง แต่โรคผิวหนังบนหนังศีรษะเอง อาจทำให้เกิดขุยบนศีรษะคล้ายรังแคได้ เช่น โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) ซึ่งจะมีขุยสีเทาๆร่วงหล่นมากกว่าผู้ที่เป็นรังแคโดยทั่วไป ต้องรักษาโดยการฉายแสงอาทิตย์เทียม (Phototherapy) โรคผิวแห้ง (Ichthyosis) และยังมีโรคกลากที่เกิดจากเชื้อราชื่อ เดอมาโตโฟเตส (Dermatopytes) ซึ่งเกิดขึ้นได้ทุกส่วนที่เป็นผิวหนังของร่างกาย ทำให้มีอาการคัน หากเกิดบนหนังศีรษะและไม่ได้รับการรักษาก็จะเกิดเป็นตุ่มหนองที่เรียกว่า ชันนะตุ และยังสามารถติดต่อได้ด้วยการใช้ของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว หวี มีคนไข้หลายคนที่ติดเชื้อราตัวนี้มาจากการนอนหมอนของคนอื่น โปรดระวังและพยายามอย่าใช้ของร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะคนที่ไม่ค่อยรักษาความสะอาด
คนไข้มีเป็นโรคผิวหนังซึ่งทำให้เกิดรังแคและพบเป็นประจำ คือ คนไข้เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนังหรือผิวหนังอักเสบที่ศีรษะที่เรียกว่า เซ็บเบอริก เดอมาไตติส (Seborrheic dermatitis) โดยเริ่มต้นจะมีอาการคันและมีรังแคเพียงเล็กน้อย ต่อมาจะเริ่มมีอาการอักเสบมีอาการคันมาก และบางคนอาจมีมีผื่นแดงๆขึ้นบนหนังศีรษะอีกด้วย อาการของโรคสามารถลามออกมานอกบริเวณหนังศีรษะไปยังใบหน้าหรือตามตัวได้ หากพบว่ามีลักษณะอาการข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ผิวหนังโดยด่วน ก่อนที่จะเป็นมาก และเส้นผมจะจากคุณไป
การดูแลรักษาเส้นผมเพื่อสุขภาพของเส้นผมและหนังศีรษะที่ดี เป็นการป้องกันการเกิดรังแค ควรจะ
หมั่นสังเกตอัตราการร่วงของเส้นผมของคุณและการเปลี่ยนแปลงของเส้นผม ผมไม่ควรร่วงเกินวันละ 100 เส้น
ทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะเสมอ อากาศร้อนอย่างบ้านเราควรสระผมทุกวัน ล้างผลิตภัณฑ์แต่งผมให้สะอาด ห้ามเกาหนังศีรษะหรือขยำขยี้ผมอย่างรุนแรง เพราะอาจทำให้ผมที่กำลังขึ้นมาใหม่ร่วง และเกิดอาการหนังศีรษะอักเสบได้
ไม่ควรใช้น้ำอุ่นจัดสระผมเพราะ เพราะน้ำอุ่นจะไปละลายชั้นไขมันบนหนังศีรษะ ทำให้หนังศีรษะยิ่งลอกและแห้งเป็นขุย และเกิดรังแค
หลังสระผมควรเช็ดผมให้สะอาดโดยการใช้ผ้าขนหนูที่แห้งและสะอาดซับ อย่าไปขยี้แรงๆนะครับเพราะคิดว่าจะกระตุ้นรากผม แต่นี้เป็นการทำให้เส้นผมขาดและหลุดร่วงมากกว่า ที่สำคัญไม่ควรใช้ผ้าขนหนูร่วมกับผู้อื่นครับ
เลือกแชมพูที่มีฤทธิ์ไม่รุนแรง และหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีต่างๆบนเส้นผมและหนังศีรษะ เช่น การใช้ผลิภัณฑ์แต่งผม การดัดหรือผม
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อผมเพื่อให้รากผมแข็งแรง โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีเบต้าแคโรทีน ซิงค์ เช่น งาดำ สาหร่ายทะเล กล้วย
หลีกเลี่ยงแดดจัด ซึ่งจะทำลายปรตีนในเส้นผม ทำให้ผมหยาบ ทำให้ผมชี้ฟู แห้งกร้าน ไม่เงางาม ทำลาย
การบุหรี่ทำให้ผมขาดความมันเงา หนังศีรษะแห้ง เป็นสาเหตุของมะเร็ง และการแก่ก่อนวัย ควรงดโดยเด็ดขาด
รังแค รักษาได้
ในกรณีที่เป็นรังแคไม่มาก คุณสามารถรักษาอาการได้ด้วยตัวเองโดยการใช้แชมพูสระผม ในกรณีที่เป็นรังแคไม่มาก การใช้แชมพูธรรมดาสระผมทุกวันสามารถช่วยบรรเทาคันได้ แต่หากมีรังแคปานกลางและคันไม่มาก สามารถซื้อแชมพูรักษารังแคใช้เองได้ แชมพูรักษารังแคหรือแอนตี้แดนดรัฟฟ์ (Antidandruff) ที่มีอยู่ในท้องตลาด มักมีส่วนผสมของ ซิงค์ไพริไทออน ( Zinc pyrithion หรือZPT) และเซลิเนี่ยมซัลไฟด์ (Selenium sulfide) ซึ่งมีฤทธิ์ในการลดการแบ่งตัวของเซลล์บนหนังศีรษะและต้านเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้อาจมีส่วนผสมของรีซอร์ซินอล (Resorcinol) ซัลเฟอร์ (Sulfur) และกรด (Salicylic acid) ซึ่งช่วยลดขุยบนหนังศีรษะ และช่วยขจัดเซลล์ที่ตายแล้วให้หลุดไปโดยง่าย ส่วนคนไข้ที่เกิดอาการคันเพราะเชื้อรา แนะนำให้สระผมบ่อยๆด้วยแชมพูที่มีส่วนผสมของ คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ซึ่งช่วยลดอาการคันจากเชื้อราที่อาจเกิดบนหนังศีรษะ โดยขยี้ผมด้วยแชมพูเบาๆให้ทั่ว ทิ้งแชมพูไว้ประมาณ 5 แล้วล้างออกให้สะอาด หากอาการไม่ดีขึ้น หรือเกิดผิวหนังอักเสบร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์ผิวหนัง
การรักษาความสะอาด และหมั่นสังเกตร่างกายตัวเอง เป็นจุดเริ่มต้นของสุขภาพของทั้งร่างกายและจิตใจที่ดี การออกกำลังกายก็มีส่วนในการกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ทั้งยังช่วยให้เส้นผมและหนังศีรษะแข็งแรงด้วย