"ขนคุด รักไม่คุด"
ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่งก็จริงอยู่ แต่สำหรับผู้หญิงคงไม่มีใครอยากโชว์ขนหน้าแข้ง ไรหนวดเฟิ้ม คิ้วดกหนา และขนรักแร้ที่รกชัฏ
คงไม่มีผู้ชายคนไหนมานั่งเท้าคางชมแฟนตัวเองหรอกว่า "ขนหน้าแข้งคุณดกดำดีจริงครับ"โกนขน แวคซ์ขนเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้วสำหรับหญิงสาวที่ต้องการโชว์เรียวขา และวงแขนเนียน ความจริงแล้ว ขนตามเนื้อตัวร่างกายเป็นลักษณะเฉพาะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีบทบาทสำคัญหลายอย่าง
ช่วยปกป้องร่างกาย - ขนมีบทบาทสำคัญช่วยปกป้องร่างกายหลายประการ เช่นป้องกันสิ่งแปลกปลอมอย่างฝุ่นละอองเข้ามาในร่างกายอย่างเช่นขนตา ขนจมูก และขนในช่องหู ขนคิ้วก็เหมือนกัน ช่วยกันแสงไม้ให้แยงเข้าลูกตามากไป
ให้ความอบอุ่น - เวลาเจอกับอากาศเย็นจะเห็นว่าขนตามเนื้อตัวลุกชัน เพื่อสร้างชั้นฉนวนพิเศษขึ้นมา และเพิ่มอุณหภูมิให้ร่างกายอีกเล็กน้อยโดยเทียบเคียงกับอากาศรอบตัว ขนยังทำหน้าที่ดักอากาศรอบตัวกันไม่ให้อุณหภูมิร่างกายลดลง
รับสัมผัส - ขนช่วยให้ผิวหนังรับสัญญาณจากสิ่งแวดล้อมอย่างเช่น สัญญาณสัมผัสได้ดียิ่งขึ้น เราจึงมีขนอยู่รอบตัวยกเว้นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า
แม้ว่าขนเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายที่ดูไม่เป็นพิษเป็นภัยเลยสักครา แต่กลับมีความผิดปกติบางอย่างชื่อพิกลว่า ขนคุด ฟังความแล้วชวนนึกถึงคำว่ารักคุดขึ้นมาทันที
ขนคุด หรือทางการแพทย์เรียกว่า โรคตุ่มขนคุด (Keratosis Pilaris) เป็นโรคที่พบได้บ่อย แต่ยังไม่รู้สาเหตุที่แน่นอน สาเหตุอาจมีได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางพันธุกรรม โรคภูมิแพ้ผิวหนัง หรือเกิดจากผิวแห้งจากพันธุกรรม (Icthycsis) โดยขนคุดจะเกิดเป็นตุ่มเล็กๆ นูนขึ้นจากผิวหนัง 1-2 มิลลิเมตรตามรูขุมขน เป็นได้ทั้งตัว แต่พบมากบริเวณต้นแขน ต้นขาและหลัง
"หลายคนเกิดขนคุดจากการโกนหรือโกนไม่ถูกต้อง ดึงผิวจนตึง โกนย้อนรูขุมขน ทำให้มีดโกนไปชิดผิวหนังมากจนเกินไป ปาดเอาบริเวณปากรูขุมขน ทำให้เกิดการระคายเคืองรูเปิดของท่อขุมขนขนที่ขึ้นมาใหม่แทนที่จะแทงออกมากลับม้วนไปอยู่ภายในรูขุมขนแทน "
ขนคุด ไม่ได้ส่งผลร้ายแรง ตราบเท่าที่ไม่ไปแกะเกาจนเกิดเป็นตุ่มแดง แผล หรือ ตุ่มหนอง แต่คนส่วนมากจะมาพบแพทย์เพราะขาดความมั่นใจ
สำหรับคนที่เป็นขนคุดจากผิวแห้งหรือกรรมพันธุ์ ตัวโรคมีความหลากหลาย บ้างเป็นเรื้อรัง รักษาแล้วกลับมาเป็นอีก ขณะที่บางคนไม่ต้องทำอะไรก็จะหายไปเอง แต่หากมาพบแพทย์ หลังจากวิเคราะห์อาการและรักษาแล้ว ถ้าอาการน้อย แทบจะไม่ต้องทำอะไร นอกจากการบำรุงผิวด้วยโลชั่น เพื่อไม่ให้ผิวแห้งจนเกิดการระคายเคือง แต่หากเป็นมาก จนเกิดอาการคัน เกาจนเป็นแผล แพทย์จะแนะให้ทำการผลัดเซลล์ผิว
"การผลัดเซลล์ผิว หลายคนเลือกใช้สครับ (Scrubb) แต่ใช้ไม่ได้ผลกับทุกคน เพราะต้องระวังการสครับผิวก่อให้เกิดการระคายเคือง ซึ่งอาการจะหนักกว่าเดิม แพทย์จะให้ยาทาเพื่อผลัดเซลล์ผิว ไม่ว่าจะเป็นวิตามินเอ เอเอชเอ กรดแลคติก หรือเสริมยารับประทาน เช่น ยาสเตียรอยด์อ่อนๆ วิตามินเอ โดยต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์"
ขนคุด เป็นโรคที่เกิดได้ทุกเพศทุกวัย แม้จะรักษาหายก็สามารถกลับมาเป็นได้อีก วิธีดูแลตนเองง่ายๆ ให้ห่างจากขนคุด หมั่นดูแลรักษาผิวไม่ให้แห้งจนเกินไป ด้วยครีมบำรุงผิวหรือโลชั่นให้สม่ำเสมอ สำหรับคนหมั่นโกนขน ต้องโกนให้ถูกวิธี คือ โกนตามแนวเส้นขน อย่าดึงผิวให้ตึงจนเกินไป เพราะมีดโกนจะปาดเอาเซลล์ผิวด้านบนสุดออก และบาดปากท่อรูขุมขน ทำให้เกิดขนคุดขึ้นได้