Glutathione (กลูต้าไธโอน)

กลูต้าไธโอน (Glutathinone) เป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ที่ประกอบด้วยกรดอะมิโน 3 ชนิด ได้แก่ Cysteine, Glycine และ Glutamicacid มีหน้าที่หลักคือ เป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย (Immune Enhancer) โดยกระตุ้นการทำงานของเอ็นไซม์ที่ช่วยในการกำจัดพิษ ทำให้ร่างกายเราสามารถต่อต้านสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคต่างๆได้ นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างและซ่อมแซม DNA อีกด้วย

ความโดดเด่นของกลูต้าไธโอน คงเป็นเรื่องการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ช่วยกำจัดอนุมูลอิสระ หรือ Free Radical ตัวการที่ทำให้ผิวและร่างกายแก่ก่อนวัย และช่วยทำให้วิตามินเอและซีทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เนื่องจากมีคุณสมบัติในการสร้างเอนไซม์ที่กำจัดพิษได้ ในบางประเทศจึงใช้กลูต้าไธโอนในการรักษาภาวะการเป็นพิษจากโลหะหนัก และการทำลายพิษในตับ รวมทั้งใช้เพิ่มภูมิต้านทานในคนไข้โรคเอดส์ โรคหัวใจ ข้ออักเสบ โรคพาร์กินสัน โรคไต หรือมะเร็ง เป็นต้น ผลข้างเคียงจากการใช้กลูตาไธโอนเพื่อการรักษา คือ ทำให้สีผิวจางลง จึงเริ่มมีผู้สนใจนำกลูตาไธโอนมาใช้ในแง่ผิวพรรณและความงาม

ขาวขึ้นได้อย่างไร

สีผิวของคนเรา เกิดจากการสร้างเม็ดสี (Melanocyte) โดยมีเซลล์เม็ดสี (Melanin) ซึ่งจะมีสีแตกต่างไปตามเชื้อชาติ และกรรมพันธ์ุ การสร้างเซลล์เม็ดสีของแต่ละคน จะมีการสร้างใน 2 ลักษณะควบคู่กันไป ได้แก่ การสร้างเม็ดสีแบบ Eumelanin และแบบ Pheomelanin การสร้างเซลล์เม็ดสีไม่ว่าจะในคนผิวขาวหรือผิวดำโดยแท้จริงแล้ว ไม่มีความแตกต่างกันเท่าไร แต่ที่สีผิวต่างกันเป็นเพราะลักษณะของการสร้างเม็ดสีไม่เหมือนกัน คือ

คนผิวขาวจะมีการสร้างเซลล์เม็ดสีแบบ Pheomelanin เป็นหลัก และสร้าง Eumelanin น้อยกว่า ส่วนคนผิวดำหรือผิวเข้มจะสร้างเซลล์เม็ดสีแบบ Eumelanin มากกว่า และสร้าง Pheomelanin น้อยกว่า พูดง่ายๆก็คือ ถ้าร่างกายสร้างเม็ดสีประเภท Pheomelanin มากกว่า ก็จะมีสีผิวที่อ่อนกว่า

เนื่องจากกลูต้าไธโอนมีคุณสมบัติทำให้การสร้างเม็ดสี Pheomelanin มีมากกว่า ผิวจึงมีสีจางลง ที่ใช้คำว่า “อ่อนลง” หรือ “จางลง”นั้น ถูกต้องแล้วครับ เมื่อสีผิวอ่อนลง ก็ทำให้แลดูผิวขาวใสขึ้นได้ ดังนั้น กลูต้าไธโอนไม่ได้ทำให้ผิวขาวขึ้นโดยตรง แต่ทำให้สีอ่อนลง

ข้อควรระวัง

โดยตัวสารกลูต้าไธโอนเพียงลำพังไม่มีอันตรายอะไรกับร่างกาย แม้อาจทำให้ผิวดูกระจ่างขึ้น แต่สิ่งที่ธรรมชาติได้สร้างสรรค์ขึ้นมาโดยผ่านการวิวัฒนาการเป็นล้านปีย่อมมีความหมายเสมอ การที่ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ในประเทศร้อนตลอดปีอย่างเรามีผิวคล้ำกว่าฝรั่ง ก็เพราะว่าผิวคล้ำสามารถเพราะสามารถป้องกันแสงอัลตราไวโอเลตจากแสงอาทิตย์ได้มากกว่า โอกาสการเกิดมะเร็งผิวหนังจึงมีน้อยกว่าคนผิวขาวที่อยู่ในอากาศหนาวไม่มีแดด ดังนั้น การพยายามเปลี่ยนสีผิวจึงเป็นสิ่งที่ไม่แนะนำ หากจำเป็นต้องใช้กลูต้าไธโอนจริงๆ ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดจัดๆ ใส่เสื้อแขนยาวขายาวเพื่อป้องกันการสัมผัสแดดโดยตรง ทาซันบล็อคให้บ่อยขึ้นและเลือกใช้แบบที่มี SPF 30 ขึ้นไป มีค่า PA ++++

กลูต้าไธโอนทำให้การสร้างเซลล์เม็ดสีในทุกๆส่วนของร่างกายเปลี่ยนแปลง ผิวหนังและอวัยวะส่วนที่มีสีทั้งหมด จึงมีสีอ่อนลงไปด้วย การได้รับกลูต้าไธโอนอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เม็ดสีที่จอตาลดลง ทำให้ดวงตารับแสงได้น้อยลง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อการมองเห็นได้ และคุณทราบหรือไม่ว่า ในสมองคนเรามีเซลล์บางอย่างที่เป็นสีดำ กลูต้าไธโอนอาจทำให้สีของเซลล์ดังกล่าวจางลงได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการวิจัยทางการแพทย์ว่า การที่เซลล์เหล่านั้นเปลี่ยนสี จะมีผลต่อการทำงานของสมองมากน้อยเพียงใด!

ผลิตภัณฑ์กลูต้าไธโอนในปัจจุบันมีทั้งแบบทา รับประทาน หรือว่าฉีด ประเภททาไม่น่าจะให้ผลแต่อย่างไร ส่วนประเภทรับประทาน อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์จึงจะเห็นความแตกต่าง ซึ่งการเลือกซื้อ ควรเลือกจากผู้จัดจำหน่ายที่ไว้วางใจได้ การซื้อตามอินเทอร์เน็ตควรใช้ความระมัดระวังให้มากนะครับ ส่วนประเภทฉีดนั้น ปัจจุบันจากอย.(สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา)ยังไม่ได้รับการรับรอง ดังนั้นหากมีผู้แอบอ้างว่า ให้บริการการฉีดกลูต้าไธโอนหรือจำหน่ายกลูต้าไธโอนแบบฉีดที่ได้รับอย.แล้ว ควรแจ้งทางอย.ทันที

ผิวสุขภาพดี ย่อมเสริมสร้างบุคลิกและความประทับใจแก่ผู้พบเห็นได้เสมอ สีผิวอาจไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดเสมอไป รักษาความสะอาดของผิวหน้าผิวกาย และหมั่นออกกำลังกายก็ช่วยให้ดูดีได้แม้ผิวจะไม่ขาว แต่ก็เป็นธรรมชชาติ

Previous
Previous

กลูต้าไธโอน Vs. อนุมูลอิสระ

Next
Next

ขาวด้วยกลูต้าไธโอน