น้ำร้อนลวก ไฟไหม้ เด็กเล็กควรจะทำอย่างไรดี
การเลี้ยงลูกวัยเล็กๆในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่ายนะคะ เพราะนอกจากจะดูแลให้ลูกมีสุขภาพดี แข็งแรง อีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ความปลอดภัยของลูกน้อยค่ะ
เมื่อลูกอยู่ตามลำพังอุบติเหตุที่พบได้ในเด็กเล็ก ได้แก่ การได้รับสารพิษ การสำลักเศษอาหารและอุดตันทางเดินหายใจ อุบัติเหตุทางรถยนต์ การหกล้ม หรือตกจากที่สูง แต่อุบัติเหตุอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งก็คือน้ำร้อนลวก เมื่อเด็กเริ่มคว้าสิ่งของหรือเริ่มกำมือได้ จะชอบคว้าสิ่งของใกล้ตัว ซึ่งอาจทำให้ได้รับอันตรายได้
“เมื่อลูกโดนน้ำร้อนลวก”
ลักษณะของแผลน้ำร้อนลวก แผลไฟไหม้
ปกติเมื่อเจ้าตัวน้อยมาหาคุณหมอ ไม่ว่าจะถูกน้ำร้อนลวก หรือวิ่งไปโดนเตารีด ปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อความรุนแรงต่อการบาดเจ็บ ได้แก่ อายุ ขนาดของบาดแผล และการบาดเจ็บต่อทางเดินหายใจ เบื้องต้นแพทย์จะตรวจร่างกาย และประเมินความลึกของบาดแผล เพื่อเป็นการวางแผนการรักษา
การประเมินความลึกของบาดแผลไฟไหม้ แบ่งได้ 3 ระดับคือ
· ระดับแรก (First degree Burn)
บาดแผลจะอยู่บริเวณหนังกำพร้าเท่านั้น จะมีอาการบวมแดงเล็กน้อยและแสบบริเวณที่มีบาดแผล มักเกิดจากความร้อนที่ไม่สูงมาก และสัมผัสผิวในช่วงเวลาไม่นาน และจะหายได้เร็วไม่มีรอยแผลเป็น
· ระดับที่ 2 (Second degree Burn)
บาดแผลจะลึกจนทำลายชั้นหนังแท้บางส่วน ผิวหนังจะมีสีแดงและพบตุ่มน้ำพอง (Blister) อาการปวดจะรุนแรงมากกว่าขั้นแรก แผลหายยากกว่า และส่วนใหญ่จะเกิดแผลเป็น
· ระยะที่ 3 (Third degree Burn)
บาดแผลจะลึกลงไปถึงชั้นใต้ผิวหนังซึ่งมีกล้ามเนื้อ เส้นประสาท และเส้นเลือด อาจปวดมาก แต่ถ้าเส้นประสาทถูกทำลายไปด้วยจะทำให้แผลไม่มีความรู้สึกได้ เช่น ไฟไหม้ที่สัมผัสผิวหนังเป็นเวลานาน
น้ำมันเดือดๆ บาดแผลจะไม่หายเองและจะเป็นแผลเป็น
การป้องกันและรักษา
อุบัติเหตุส่วนใหญ่สามารถป้องกันได้ แนวทางป้องกันสำหรับคุณพ่อคุณแม่
· น้ำร้อนลวก ไม่วางภาชนะที่มีของร้อน เช่น กระติกน้ำ ถ้วยกาแฟ ขวดนมใส่น้ำร้อน ชามน้ำแกง ไว้ใกล้มือเด็ก และควรปิดภาชนะ เช่น ขวดนมให้แน่นทุกครั้ง
- ไม่ควรถือของร้อนขณะอุ้มเด็ก
- น้ำอุ่นที่ผสมให้ลูกอาบ ควรใช้หลังมือสัมผัสน้ำก่อนทุกครั้ง
- ควรมี ประตูกั้นทางขึ้นลงบันได ห้องน้ำ และ ห้องครัว
· อุบัติเหตุจากไฟไหม้ / ไฟดูด
- ไม้ขีดไฟ หรือไฟแช็ค ควรเก็บให้พ้นมือเด็ก
- ใช้พลาสติกครอบปลั๊กไฟในบริเวณที่เด็กสามารถคลานไปถึงและระวังไม่ให้เด็กแหย่นิ้วมือเข้าไปในปลั๊กไฟ ซึ่งอาจเกิดไฟดูดได้
ในเด็กเล็กๆ ที่ไปเที่ยวทะเลในช่วงวันหยุดปิดเทอม ต้องระวังความร้อนจากแสงแดด ซึ่งจะทำให้ผิวไหม้ได้เช่นกัน ถ้าต้องเล่นหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง ควรใช้ครีมกันแดดหรือมีอุปกรณ์สำหรับบังแดด เช่น ร่มหรือหมวกไปด้วยนะคะ
เมื่อถูกน้ำร้อนลวกทำอย่างไร
· อย่าตกใจจนทำอะไรไม่ถูก รีบนำเด็กออกจากบริเวณนั้น ถอดเสื้อที่เปียกน้ำร้อน เพื่อไม่ให้ความร้อนสัมผัสกับผิวเป็นเวลานาน
· ลดอุณหภูมิของผิวที่โดนความร้อน เช่น การประคบน้ำเย็น / น้ำแข็ง ไม่ควรใช้ อาหารในตู้เย็นมาประคบ เพราะอาจทำให้มีการติดเชื้อแทรกซ้อนได้
· ทำความสะอาดบาดแผล ด้วยน้ำสบู่อ่อนๆ ปิดแผลด้วยผ้าสะอาด
· ถ้าบาดแผลมีบริเวณกว้าง ควรรีบพาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ไม่ควรแกะแผลที่พอง เพราะอาจทำให้มีการติดเชื้อแทรกซ้อนได้
เมื่อถูกไฟไหม้ ทำอย่างไร
· ทำให้ไฟไหม้หยุดลง ถ้ามีแผลไหม้บริเวณใบหน้า มีเขม่าควันในเสมหะ ถูกไฟไหม้ในสถานที่ทึบ มีประวัติไม่รู้สึกตัว ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าระวัง การบาดเจ็บต่อทางเดินหายใจ
· ถอดเสื้อและเครื่องประดับทุกชนิดออก
· ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด และทายาซึ่งขึ้นกับความรุนแรงของบาดแผล
· ในเด็กที่มีบาดแผลจากความร้อนมากกว่า ร้อยละ 20 ของพื้นที่ผิวร่างกายควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อตรวจรักษาเพิ่มเติม
แผลไหม้จากเตารีด
· แผลที่ถูกเตารีด เป็นแผลไหม้ชนิดหนึ่ง มักพบบริเวณมือหรือแขน ผิวหนังบวมแดงและมีอาการแสบร้อนบริเวณแผล
· แช่มือที่มีแผลในน้ำสะอาด หรือ น้ำเย็นประมาณ 10 นาที ซับแผลให้แห้ง
· ทาด้วยยาสำหรับแผลไฟไหม้และน้ำร้อนลวก
แผลไหม้จากสารเคมี (Chemical burns)
เช่น กรดด่าง ควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ปริมาณมาก อย่างน้อย 20-30 นาที ไม่ควรใช้สารที่ทำให้เป็นกลางล้างแผล ปัจจัยที่ทำให้บาดแผลรุนแรง คือ ระยะเวลาที่สัมผัสถูกสารเคมี จึงควรรีบล้างออกให้เร็วที่สุด
ว่านหางจระเข้
เป็นสมุนไพรที่คนไทยรู้จักดี มีการนำมาใช้รักษาแผลไฟไหม้ และน้ำร้อนลวก เนื่องจากมีสารโพลียูโรไนด์และ โพลีแซคคาไรด์ ที่ช่วยรักษาแผล และป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่บาดแผล สามารถใช้ได้กับแผลที่มีความรุนแรงน้อยและในแผลไม่ลึกถึงชั้นหนังแท้
การเลือกใช้ว่านหางจระเข้
- ใบสดๆ ควรเลือกใบแก่ๆที่อยู่ด้านล่าง ปอกเปลือกและล้างน้ำยางออก ขูดเฉพาะวุ้นใสมาปิดบริเวณแผล วันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น จนแผลหาย
- ควรเก็บใบไว้ในตู้เย็น เพราะสารในใบจะสลายง่ายเมื่อถูกความร้อน
- ปัจจุบันมีการจำหน่ายในรูปแบบ เจล ทำจากวุ้นหางจระเข้เข้มข้น