บอกลาผิวหยาบกร้าน สู่ผิวเนียนใสอย่างเป็นธรรมชาติ

“คุณหมอคะ บำรุงผิวด้วยครีมมาก็หลายกระปุก แต่ทำไมผิวยังหยาบกร้าน ไม่น่าสัมผัส” คนไข้ของหมอหลายคนมักจะมีบทตัดพ้อ แกมฉงนสงสัยแบบนี้มาปรึกษาหมอเป็นประจำ เมื่อจะกล่าวไปแล้วการดูแลใส่ใจตามวิธีข้างต้นก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ผิวมีสุขภาพดี แต่หลายคนปล่อยให้สภาพแวดล้อม แสงแดด ฝุ่นควันเป็นตัวทำร้ายทำลายผิว รวมทั้งยังขาดความเข้าใจในการฟื้นฟู บำรุงที่ถูกวิธี จึงทำให้ผิวไม่เนียนใสดั่งใจหวัง Slim up ฉบับนี้จึงเป็นโอกาสดีที่หมอจะแนะนำเคล็ด(ไม่)ลับสำหรับสาวๆ ในการคืนความเนียนนุ่มให้สุขภาพผิว ด้วยขั้นตอนง่ายๆจากความเข้าใจสู่การ ฟื้นฟู และ บำรุงผิวพรรณอย่างถูกวิธี

ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนแห่งการฟื้นฟู และบำรุงซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติ เราควรมาทำความเข้าใจถึงสาเหตุของความหยาบกร้าน และความแตกต่างของสภาพผิวในแต่ละคนกันก่อน สุขภาพผิวของคนเราที่ต่างกันเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ปัจจัยแรก อันติดตัวมาแต่กำเนิด คือ พันธุกรรม สังเกตได้จากคนในครอบครัว ถ้ามีผิวละเอียด ลูกหลานก็จะได้รับมรดกตกทอดนี้มาด้วย ลักษณะที่แสดงออกทางพันธุกรมนี้รวมไปถึง ความกว้างของรูขุมขน สีผิว และความชุ่มชื้นที่มีในผิวด้วย นอกจากนั้นฮอร์โมนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้สภาผิวเนียนนุ่ม ในผู้หญิงเราจะมีฮอร์โมนที่เรียกว่าเอสโตรเจน โดยฮอร์โมนนี้จะผลิตโดยต่อมไร้ท่อตามธรรมชาติ มีส่วนทำให้ผิวพรรณของผู้หญิงละเอียดเนียนนุ่มกว่าผู้ชาย นอกจากปัจจัยภายในดังกล่าวแล้ว สภาพผิวที่แตกต่างของคนเราก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมภายนอกด้วย ทั้ง แสงแดดที่เป็นตัวทำร้ายให้ผิวหมองคล้ำ อากาศร้อนแห้งที่จะทำลายความชุ่มชื้นทำให้ผิวแห้งสาก หรือลอกเป็นขุย

ไม่ว่าผิวหยาบกร้านจะเกิดจากปัจจัยหรือสาเหตุใดๆ วิธีแก้ไขก็ไม่ยากหากเราใส่ใจ เริ่มจากวิธีง่ายๆ โดยขั้นแรกต้องรู้จักป้องกัน หรือหลีกเลี่ยงปัจจัยภายนอกที่จะมาทำร้ายผิว เช่น เลี่ยงภาวะฝุ่นละอองด้วยการมีผ้าปกปิดหรือ แต่งกายมิดชิดเมื่อต้องออกเผชิญภาวะดังกล่าว วิธีนี้ฟังดูง่ายๆแต่ให้ผลได้ดีในเรื่องกันฝุ่นควันพิษรวมไปถึงเรื่องการป้องการผิวคล้ำจากแสงแดดอีกด้วย หรือถ้าผิวแห้งจากการนั่งในห้องปรับอากาศนานๆ ก็ควรหาเวลาว่างชั่วโมงละครั้งทาครีม โดยทำเป็นกิจวัตร ผิวก็จะนุ่มขึ้น

สำหรับปัญหาความละเอียดของผิว รูขุมขนกว้าง สีผิวไม่เรียบเนียนใส หรือปัญหาอื่นๆอันเกิดจากปัจจัยภายใน พันธุกรรม หรือ ขาดการดูแล สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการบำรุงพื้นฐาน คือ เริ่มต้นจากนิสัยการรับประทาน ลองมองหาอาหารจำพวกที่มีวิตามินซี เช่น ฝรั่ง ส้ม ผลไม้จำพวกเบอรี่ที่มีประโยชน์ต่อผิว หรือ วิตามินเอ เช่น ในมะละกอ ฝักทอง แครอท และในผักใบเขียว อาหารจำพวกนี้จะเข้าไปช่วยซ่อมแซมผิวหยาบกร้าน และเพิ่มความชุ่มชื่นของผิว สำหรับการออกกำลังกาย ก็จะช่วยเรื่องการขับของเสียออกจากร่างกาย และการหมุนเวียนของระบบน้ำเหลือง ตลอดจนระบบเลือด ซึ่งจะช่วยให้ผิวพรรณดูสดใสขึ้น สำหรับการพักผ่อน อย่าละเลยช่วงนาทีทองของการนอนคือช่วงที่โกรทฮอร์โมนจะหลั่งตั้งแต่ 4 ทุ่มถึงเที่ยงคืน การนอนแต่หัวค่ำไม่เพียงแต่ช่วยให้ระบบสมองแจ่มใส แต่ยังช่วยให้ผิวมีสุขภาพดี อ่อนกว่าวัยอีกด้วย

แต่ถ้าอยากเห็นผลได้เร็วขึ้น ปัจจุบัน นวัตกรรมเลเซอร์ที่ใช้แพร่หลายในวงการแพทย์ก็ช่วยได้เป็นอย่างดี เช่น Pore Reduction เลเซอร์ที่จะช่วยกระชับรูขุมขน ผิวหน้าก็จะมีสภาพดี เนียนนุ่มขึ้น , นวัตกรรมเลเซอร์ Sellas ที่จะช่วยรักษารอยแผลเป็น ริ้วรอย หลุมสิวด้วยเลเซอร์ โดยจะช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ผิวหนังทำให้หน้าเนียนผิวใส อีกตัวหนึ่งคือ I Pulse นวัตกรรมที่ช่วย ปรับฟื้นฟูสภาพผิวคืนความสดใสอ่อนเยาว์ให้ผิวโดยปรับสีผิวให้สม่ำเสมอและลบเลือนจุดด่างดำที่เกิดจากแสงแดด กระชับรูขุมขนเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับผิวและลบเลือนริ้วรอย โดยเลเซอร์ทั้งหมดจะให้ผลได้ค่อนข้างรวดเร็วเมื่อทำอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ควรอยู่ในความควบคุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

อีกหนึ่งทางเลือกนอกเหนือจากการทำเลเซอร์ คือ การทำทรีตเม้นต์บำรุงผิว ตัวทรีตเม้นต์จะมีสารอาหารที่จำเป็นต่อผิว ช่วยให้ผิวใสกระจ่าง สำหรับตัวที่นิยมอย่างแพร่หลาย ก็เช่น Ionto Phono โดยนวัตกรรมนี้จะส่งกระแสไฟฟ้าอ่อนๆเข้าไปผลักวิตามินเข้าสู่ผิว และ ปัจจุบันมีนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นเรียกว่า DEP เครื่องนี้จะมีประสิทธิภาพดีกว่าตัวเดิม 5 เท่า คือ ผลักวิตามินและสารอาหารเข้าสู่ใต้ผิวได้ลึกและดียิ่งขึ้น คล้ายๆกับการทาครีมวิตามินบำรุง แต่วิตามินจะซึมลึกถึงผิวหนังชั้นในได้ดีกว่า

ไม่ว่าจะเป็นการบำรุงด้วยครีม การดูแลตัวเองด้วยการรับประทาน ออกกำลังกาย และการฟื้นฟูด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ แนะนำว่าควรทำควบคู่กัน และอย่าลืมทำจิตใจให้แจ่มใส ผ่อนคลายไม่เครียดด้วยนะคะ เชื่อว่าสุขภาผิวของสาวๆ Slimup คงจะดีขึ้นอย่างเป็นระดับ

มาบอกลาความหยาบกร้าน สู่ผิวธรรมชาติน่าสัมผัส ไม่ใช่เรื่องยากหากลองปฏิบัติให้ถูกวิธี

Previous
Previous

โรคกลุ่มเซลล์ผิดปกติ Langerhans cell histiocytosis LCH

Next
Next

Sunscreen (ครีมกันแดด)