ผิวเด็กทารก ควรดูแลอย่างไร?

การดูแลผิวพรรณของลูกน้อยนับเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กทารก เพราะผิวเด็กทารกจะมีความบอบบาง และต้องการได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ด้วยว่า ผิวพรรณของเด็กทารกนั้นบอบบางเกินกว่าจะได้รับสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งที่เป็นอันตราย เพราะผิวที่บอบบางจะสามารถดูดซึมหรือซึมซับสิ่งต่างๆเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายของเด็กทารกได้รวดเร็วและง่ายกว่าผิวของผู้ใหญ่ ดังนั้นผิวของเด็กทารกจึงต้องได้รับการดูแลอย่างใส่ใจ และถูกวิธี

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักผิวพรรณของเด็กทารกกันก่อน ช่วงแรกเกิด ผิวของทารกจะมีสารเคลือบผิวปกคลุมลักษณะเป็นไข เพื่อช่วยป้องกันผิวหนังจากสิ่งระคายเคืองภายนอก สำหรับผิวของทารกแรกเกิดที่คลอดครบกำหนด(9เดือน)ผิวหนังจะบางกว่าเพราะสารเคลือบผิวเริ่มหลุดลอก แต่จะมีความสมบูรณ์ของส่วนประกอบผิวหนังคล้ายผิวหนังผู้ใหญ่ ยกเว้น ต่อมเหงื่อและต่อมไขมันที่ยังทำงานไม่ได้เต็มที่ แต่แม้จะมีสารเคลือบผิว หรือมีองค์ประกอบผิวหนังคล้ายผู้ใหญ่ แต่เชื้อโรคที่อยู่รอบตัวก็สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย โดยเฉพาะในทารกแรกเกิดมีทางเข้าของเชื้อโรคบริเวณสายสะดือ คุณแม่จึงยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ

สำหรับการดูแลรักษาผิวของลูกน้อย ควรเริ่มดูแลและใส่ใจตั้งแต่การทำความสะอาด เริ่มจากการอาบน้ำ การอาบน้ำในทารกแรกเกิด คุณแม่ต้องดูแลตั้งแต่การเตรียมน้ำ ใช้หลังมือลองจุ่มในน้ำก่อน เพื่อไม่ให้อุณหภูมิของน้ำร้อนจนเกินไป และ อาจมีเบาะเล็กๆไว้รองเวลาเช็ดตัว การเลือกครีมอาบน้ำ ควรเลือกใช้ครีมอาบน้ำสำหรับเด็กโดยเฉพาะ การทำความสะอาดควร เริ่มที่หน้าและศีรษะก่อน โดยใช้ผ้าขนหนูชิ้นเล็กๆ ทำความสะอาดและเช็ดหน้าลูกให้สะอาด การสระผมอุ้มลูกไว้โดยใช้มือรองบริเวณต้นคอของลูก ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วกลางของคุณแม่พับใบหูลูกไว้เพื่อกันไม่ให้น้ำเข้าหู หลังจากสระผม ควรเช็ดผมให้แห้งทันที ลูกจะได้ไม่เป็นหวัด ส่วนการอาบน้ำ ถ้าช่วงแรกที่สะดือยังไม่หลุดควรเช็ดตัวก่อน ทำความสะอาดสะดือด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น 70% แอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการใช้ยาโรยสะดือทุกชนิด หลังอายุ 7-10 วัน เมื่อสะดือแห้งหลุดไปแล้วจึงเริ่มอาบน้ำ และเช็ดตัวให้แห้ง ในฤดูหนาวอาจเพิ่มการดูแลโดย

การทาโลชั่นเพื่อให้ผิวหนังของลูกน้อยชุ่มชื้น การทาแป้ง อาจทำได้โดยโรยแป้งลงบนมือแล้วค่อยทาไปที่ตัวลูก ไม่ควรทาแป้งหนา หรือเทแป้งลงบนตัวลูกโดยตรง เพราะจะทำให้แป้งฟุ้งกระจาย และแป้งอาจไปอุดตันบริเวณรูขุมขน อาจทำให้เกิดผดร้อนตามมาได้ ในเด็กที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ หลีกเลี่ยงการใช้แป้งช่วง 6 เดือนแรก สำหรับการทำความสะอาดหลังขับถ่าย ควรใช้สำลีชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดบริเวณก้นและอวัยวะเพศ

ฝากไว้สักนิด หากคุณแม่พบอาการเปลี่ยนแปลงบนผิวหนังเหล่านี้ในลูกน้อย ไม่ต้องตกใจนะคะ อาการเหล่านี้จะหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา

· ผิวหนังลอก(Desquamation) จะพบช่วงหลังคลอดประมาณ 24-36 ชั่วโมง และหายเป็นปกติในอาทิตย์แรก แต่ในทารกที่คลอดก่อนกำหนด จะอยู่นานถึง 2-3 สัปดาห์ ถ้าพบผิวหนังลอกตั้งแต่แรกเกิดถือว่าผิดปกติ ซึ่งพบในทารกที่คลอดเกินกำหนด ภาวะขาดออกซิเจน หรือโรคผิวหนังบางชนิด เช่น ผิวหนังแห้ง(Ichthyosis)

· ภาวะปลายมือ ปลายเท้าเขียว (Acrocyanosis) เกิดได้จากการที่หลอดเลือดแดงส่วนปลายหดตัวเวลาร้องไห้ หรือกลั้นหายใจ

· อาการผิวหนังมีลายสีแดงคล้ายตาข่าย (Cutis mamorata) มักพบที่ลำตัว แขนขา เห็นชัดเวลาอากาศเย็น และจะดีขึ้นถ้าได้รับความอบอุ่น

· ผดร้อน เกิดจาการอุดตันของต่อมเหงื่อ พบในเด็กทารกที่การทำงานของต่อมเหงื่อยังไม่เจริญเต็มที่ ซึ่งหลีกเลี่ยงได้โดยสวมเสื้อผ้าที่บาง สวมใส่สบาย หลีกเลี่ยงอากาศร้อน

· สิว มักพบที่หน้าและคอ ตั้งแต่อายุ 2-4 สัปดาห์ เกิดจากต่อมไขมันที่ทำงานผิดปกติจากฮอร์โมนแอนโดรเจนของแม่ ซึ่งอาจหายได้เอง แต่ถ้าเป็นบริเวณกว้างๆ ต้องรักษาโดยใช้ยาทา

Previous
Previous

ผื่นที่ผิวหนังจาก “ แพ้ยา”

Next
Next

ผู้ชายผิวดี.........ทุกช่วงวัย