โรคเชื้อราที่เล็บ
น้องข้าวหอมมีผื่นแดงที่เท้า มีอาการคัน และเล็บเท้าเริ่มมีผิวขรุขระ น้องจะเป็นเชื้อราที่เล็บหรือไม่??
การติดเชื้อรา แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ การติดเชื้อราของผิวหนังชั้นนอกสุด การติดเชื้อราของชั้นใต้ผิวหนัง และการติดเชื้อราทั่วร่างกาย การติดเชื้อราของผิวหนังชั้นนอกสุดในเด็กที่พบบ่อยแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ การติดเชื้อราชนิด Candida, โรคเกลื้อน (Tinea versicolor), โรคกลาก (Dermatophytosis) โดยโรคกลากยังแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ ได้อีกตามตำแหน่งที่เป็น เช่น กลากที่ศีรษะ เรียก Tinea capitis กลากที่ลำตัว เรียก Tinea pedis กลากที่พบบริเวณหน้า เรียก Tinea facei บริเวณขาหนีบเรียก Tinea cruris ที่เท้า เรียก Tinea pedis ส่วนที่เล็บ เรียก Tinea unguium
โรคเชื้อราที่เล็บ (Onychomycosis) เกิดจากการติดเชื้อราบริเวณเล็บ พบได้น้อยมากในเด็ก ในผู้ใหญ่พบได้ประมาณร้อยละ 5 – 10 ส่วนใหญ่โรคเชื้อราที่เล็บจะไม่มีอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากโรคไม่มีความรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยและญาติไม่ทันสังเกต และประมาณร้อยละ 50 ของคนไข้ที่มีความผิดปกติที่เล็บ จะถูกเข้าใจผิดจากทั้งแพทย์และตัวคนไข้เองว่าเป็นจากเชื้อรา และให้การรักษาโดยไม่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ทำให้ได้รับการรักษาโดยไม่จำเป็น สาเหตุของโรคเชื้อราที่เล็บเกิดจากเชื้อราหลายชนิด ทั้งเชื้อราที่เป็นสายราและยีสต์ การติดเชื้อราที่เล็บจากเชื้อกลาก จะเรียกว่า Tinea ungium โดยเล็บจะมีการเปลี่ยนแปลงได้หลายแบบ เช่น ใต้เล็บมีการหนาตัวขึ้นหรือมีเศษซากที่ใต้เล็บ (subungual hyperkeratosis) เล็บล่อนแยกตัวออกจากฐานเล็บ (onycholysis) หรือมีการเปลี่ยนแปลงของสีที่เล็บ เช่น สีขาว เหลือง ส้ม น้ำตาล ดำ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบเชื้อเมื่อส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ และให้ผลบวกจากการเพาะเชื้อ
โรคกลากที่เล็บเป็นโรคที่รักษาได้ยากและเรื้อรัง โรคมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ค่อนข้างสูง และต้องใช้เวลารักษานาน อาจเป็นหลายเดือนหรือเป็นปี การวินิจฉัยจากลักษณะทางคลินิกร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยการตรวจจะต้องตัดเล็บจนถึงรอยต่อของเล็บส่วนที่เป็นโรคต่อกับส่วนที่ปกติ การเก็บตัวอย่างที่ไม่ดีก็จะทำให้เกิดผลลบลวงได้ (คือ เป็นโรคแต่ตรวจไม่พบเชื้อ) การรักษาต้องรับประทานยา ส่วนการทายาอย่างเดียวจะไม่ได้ผล เนื่องจากยาซึมผ่านเล็บได้ไม่ดี
· Griseofulvin เป็นยาหลักที่ใช้รักษาเชื้อกลากในเด็ก การใช้รักษาเชื้อราที่เล็บมือ ให้นาน 4 – 6 เดือน เล็บเท้านาน 6 – 9 เดือน ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว และปวดศีรษะ
· ยากลุ่มKetoconazole ส่วนใหญ่จะใช้เมื่อทานยา griseofulvin แล้วไม่ได้ผล ผลข้างเคียงที่สำคัญคือ เป็นพิษต่อตับ
· ยากลุ่มItraconazole เป็นยากลุ่มใหม่ที่มีผลต่อตับและคลื่นไส้ อาเจียนน้อยกว่า ข้อดีของยาคือ หลังหยุดยาแล้ว ยายังคงอยู่ที่ผิวหนังนาน 3 – 4 สัปดาห์ และอยู่ในเล็บนาน 6 – 9 เดือน แต่ยามีราคาค่อนข้างแพง
· ยากลุ่ม Terbenafine การใช้รักษาเชื้อราที่เล็บมือเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ และที่เล็บเท้า 12 สัปดาห์
เนื่องจากยามีผลต่อการทำงานของตับ และระยะเวลาการรักษาค่อนข้างนาน โดยเฉพาะเมื่อใช้ยารับประทาน ซึ่งต้องใช้เวลานานและมีผลข้างเคียงจากยาได้ น้องข้าวหอมจึงได้รับการรักษาโดยการรับประทานยา พร้อมทั้งติดตามการทำงานของตับอย่างใกล้ชิด.