Herpes zoster(โรคงูสวัด)

โรคงูสวัด เกิดจากเชื้อ Varicella- zoster virus (VZV) ติดต่อได้ทางอากาศ โดยเชื้อไวรัสจะมาเกาะที่เยื่อบุผิวในจมูก คอหอย และแพร่ไปต่อมน้ำเหลือง เมื่อเชื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้นจะกระจายไปตามอวัยวะต่างๆ และบริเวณผิวหนัง โดยการติดเชื้อครั้งแรกจะทำให้เป็นโรคสุกใส หลังจากนั้นเชื้อจะไปอยู่ที่ปมของเส้นประสาท เมื่อร่างกายอ่อนแอหรือไม่สบายอีกครั้ง จะทำให้เกิดโรคงูสวัด โดยไวรัสชนิดนี้ขณะที่เป็นสามารถติดต่อได้ทั้งทางทางเดินหายใจ และการสัมผัสโดยตรงกับผื่น

โรคงูสวัดพบได้น้อยในเด็ก และอาจพบได้ในเด็กที่มารดาติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ โดยจะมีผื่นจะขึ้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย กระจายตัวไปตามแนวเส้นประสาทที่เลี้ยงผิวหนัง อาจมีอาการปวดนำมาก่อนผื่นขึ้น 48 – 72 ชั่วโมง ระยะแรกจะเป็นผื่นแดง ต่อมากลายเป็นผื่นนูนและตุ่มน้ำภายใน 3 – 5 วัน สำหรับเด็กที่มีผื่นอยู่บริเวณใบหน้า จมูก และหู ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพราะอาจพบอาการแทรกซ้อน เช่น กระจกตาอักเสบ ปากเบี้ยว เสียการทรงตัว และการได้ยินผิดปกติ ในผู้ใหญ่จะค่อนข้างปวดแสบร้อนบริเวณแผล และอาการจะรุนแรงกว่า การวินิจฉัยโรคต้องอาศัยจากลักษณะอาการทางคลินิก การส่งตรวจเพิ่มเติม Tzanck smear อาจทำในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรืออาการไม่ชัดเจน

การรักษาในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันปกติ ให้รักษาตามอาการ โดยรับประทานยากลุ่มแอนติฮีสตามีนเพื่อลดอาการคัน ตัดเล็บให้สั้น เนื่องจากการเกาจะทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ถ้าอาการรุนแรงหรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ให้รับประทานยา acyclovia หรือให้ยาทางหลอดเลือดดำทุก 8 ชั่วโมงนาน 7 – 10 วัน เพื่อลดจำนวนเชื้อไวรัสที่แผล ทำให้ตุ่มใหม่เกิดขึ้นน้อยลง ช่วยบรรเทาอาการปวดและให้แผลหายเร็วขึ้น โดยการให้ยาจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อให้ยาภายใน 24 – 48 ชั่วโมงหลังเริ่มมีผื่น ในเด็กที่อายุมากกว่า 12 ปี ให้ยา valacyclovir หรือยา famciclovir

งูสวัดในเด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นโรคมะเร็ง หรือได้ยากดภูมิคุ้มกัน อาการจะรุนแรง และอาจพบที่เส้นประสาท 2 เส้นพร้อมๆ กัน หรือมีตุ่มที่อยู่นอกเส้นประสาทมากกว่า 20 ตุ่ม ควรรับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้ยาแบบฉีดในกระแสเลือด การติดเชื้องูสวัดในเด็กที่มีภูมิคุ้มกับบกพร่องจะเป็นได้หลายครั้ง และอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การแพร่กระจายของเชื้องูสวัดไปอวัยวะอื่นจะเพิ่มสูงขึ้น อาจพบมีการติดเชื้อที่สมอง ปอดบวม และตับอักเสบร่วมด้วย ถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อนผื่นจะหายใน 2 – 3 สัปดาห์

การป้องกัน เนื่องจากเชื้อสามารถแพร่ได้ตั้งแต่เริ่มมีผื่นเป็นตุ่มน้ำจนถึงผื่นตกสะเก็ด ดังนั้นจึงควรให้ลูกหยุดโรงเรียนจนกว่าแผลจะหาย สามารถอาบน้ำฟอกสบู่ได้ตามปกติ ไม่ควรใช้แป้งทาทับลงไปบนผื่น มีเด็กบางคนผู้เฒ่าผู้แก่ในบ้านพาไปรักษาแบบการแพทย์พื้นบ้าน โดยใช้ยาทาสมุนไพรหรือให้หมอเป่าเชื้องูสวัดออกให้ ซึ่งอาจต้องระวังเรื่องการติดเชื้อแทรกซ้อน ถ้าผื่นอยู่บริเวณใบหน้าและใกล้ดวงตา ควรรักษาควบคู่กันระหว่างกุมารแพทย์และจักษุแพทย์ ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคนี้ คนที่ได้รับวัคซีนสามารถเป็นงูสวัดได้ แต่อัตราการเกิดโรคและความรุนแรงจะน้อยกว่าการติดเชื้อตามธรรมชาติค่ะ.

Previous
Previous

Biologic Drug(ยาฉีดชีวโมเลกุล)

Next
Next

Onychomycosis(โรคเชื้อราที่เล็บ)