Paederous dermatitis(ผิวหนังอักเสบจากแมลงปีกแข็ง)

ผิวหนังอักเสบจากแมลงปีกแข็ง (Paederous dermatitis หรือ blister beetle dermatitis) มีกลุ่มแมลง 2 ชนิดที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดผื่น คือ Blister beetles และ Rove beetles ซึ่งเป็นกลุ่มแมลงปีกแข็ง เช่น ด้วงน้ำมัน แมลงก้นกระดกหรือด้วงก้นกระดก แมลงก้นกระดกมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 0.7 – 1 เซนติเมตร ลำตัวเป็นปล้องๆ สีส้มดำ แมลงกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะกินพืช ช่วยควบคุมการระบาดของแมลงศัตรูพืช ช่วยกำจัดไข่หนอนผีเสื้อ หนอนแมลงวัน อาศัยตามพื้นดินที่มีพืชปกคลุม เช่น แปลงผัก ทุ่งนา ปกติแมลงก้นกระดกจะไม่ปล่อยสารพิษหรือทำอันตรายต่อคน แต่เราจะได้รับสาร Pederin ที่ปล่อยจากตัวของแมลงเมื่อสัมผัสโดนแมลง ไปขยี้ หรือปัดโดนบริเวณผิวหนัง ช่วงแรกจะมีผื่นแดง แสบร้อน และคัน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนอง และค่อยๆ ตกสะเก็ดใน 7 – 10 วัน ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำแทรกซ้อน จะทำให้ผื่นหายช้าลงและมีโอกาสเกิดเป็นรอยดำตามมา ความรุนแรงของการอักเสบบริเวณผิวหนังจะขึ้นกับความเข้มข้นของสาร Pederin ที่สัมผัสโดน ถ้าสัมผัสโดนเพียงเล็กน้อย อาการผื่นจะไม่รุนแรง โดยจะพบแค่ผื่นแดงและจะค่อยๆ หายเป็นรอยดำใน 3 – 4 วัน ลักษณะผื่นผิวหนังอักเสบชนิดนี้ จะมีผื่นที่มีลักษณะจำเพาะคือ ถ้าพบบริเวณข้อพับ เช่น ข้อพับแขน รักแร้ ผื่นจะมีลักษณะประกบกัน หรือที่เรียกว่า kissing lesion ส่วนผื่นที่เกิดเป็นทางยาว อาจเกิดจากการปัดแมลง และผื่นจะเป็นตามรอยที่ปัด

ในช่วงฤดูฝนต่อกับฤดูหนาวเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคมากสุดในทุกๆ ปี หากสัมผัสถูกตัวของแมลงให้รีบล้างด้วยสบู่นาน 5 – 10 นาที ถ้าเกิดเพียงรอยแดงเล็กน้อย ผื่นจะสามารถหายเองได้ การใช้ยาสเตียรอยด์ทาจะทำให้ลดอาการคันลง ถ้าแสบให้ประคบเย็น ถ้าผื่นกลายเป็นตุ่มน้ำควรรีบพาไปพบแพทย์

Previous
Previous

Onychomycosis(โรคเชื้อราที่เล็บ)

Next
Next

Allergic contact dermatitis(อาการผิวแพ้เครื่องประดับ รักษา อย่างไร)