Seborrheic dematitis (โรคเซ็บเดิมหรือ รังแคที่ผิวหน้า)

เมื่อลมหนาวพัดมา ปัญหาที่หลาย ๆ คนมักจะเจอคือ ผิวหนังแห้ง เหตุเพราะในฤดูหนาวความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศจะลดต่ำลง ความชุ่มชื้นในอากาศเหลือน้อย ทำให้ผิวแห้ง เกิดอาการคัน และผิวหนังลอกเป็นขุยได้ ไม่เฉพาะแต่ในฤดูหนาวเท่านั้น หากนั่งอยู่ในห้องแอร์นาน ๆ ผิวก็จะแห้งได้เช่นกัน ซึ่งนอกจากจะทำให้สุขภาพผิวไม่ดีแล้ว ผิวแห้งยังเกิดริ้วรอยได้ง่ายกว่าด้วย

ผิวลอกเมื่อเจอลมหนาว

ปัญหาที่พบบ่อยคือ อาการหน้าลอกเป็นขุย ๆ มีผื่นแดงคันบริเวณรอบจมูก ปาก หว่างคิ้ว บางคนอาจมีอาการลามไปถึงไรผมและหนังศีรษะ หรือมีเกล็ดขาวลักษณะคล้ายรังแคหลุดร่วงมาจากหนังศีรษะ ทำให้รู้สึกรำคาญและเสียความมั่นใจไปได้ไม่น้อย ลักษณะเช่นนี้เข้าข่ายอาการของ “โรคเซ็บเดิม” ครับ

โรคเซ็บเดิม (Seborrheic dematitis) หรือบางคนอาจเรียกว่า “รังแคที่ผิวหน้า” เป็นโรคผิวหนังที่ไม่ติดต่อ จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับสะเก็ดเงินและรังแค หากแต่รังแคจะเป็นเฉพาะที่หนังศีรษะ ปกติแล้วอาการผิวหนังอักเสบคันมักจะเกิดบริเวณที่ผิวแห้งที่มีการทำงานของต่อมไขมันน้อย แต่โรคเซ็บเดิมต่างออกไป คือ มักเกิดบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก เพราะผิวหนังสร้างไขมันออกมามาก และไขมันนั้นมีกรดไขมัน (Fatty acid) ที่มารบกวนผิวหนัง ทำให้เกิดการอักเสบ เมื่อผิวหนังอักเสบเซลล์ผิวหนังก็จะสร้างตัวขึ้นมามากผิดปกติ ทำให้เซลล์ผิวหนังที่ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่เคลื่อนตัวขึ้นมาที่ชั้นบนสุดของผิวหนังเร็วเกินไป เนื่องจากเซลล์ผิวหนังพวกนี้ยังไม่แข็งแรง จึงไวต่อการกระตุ้นและถูกรบกวนได้ง่าย เกิดการอักเสบ บวมแดง และหลุดตัวออกเป็นขุย เป็นวงจรเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ สังเกตได้ว่าทุกครั้งที่ผิวหนังอักเสบ ผิวหนังจะหนาผิดปกติครับ เช่น โดนยุงกัดผิวหนังอักเสบ บวม หนา หรือมีการระคายเคือง ผิวหนังอักเสบ ฟอร์มตัวหนา เป็นต้น

สาเหตุของเซ็บเดิมนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากกรรมพันธ์ุ ฮอร์โมน ซึ่งมักเป็นในช่วงวัยรุ่นหรือช่วงเข้าสู่วัยทองเพราะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนมาก และผู้ชายมักจะเป็นมากกว่าผู้หญิง นอกจากนี้ยังอาจเกิดการพักผ่อนไม่เพียงพอ โรคบางชนิด รวมทั้งสิ่งแวดล้อม เช่น จากยีสต์ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่พบได้ทั่วไปในธรรมชาติชนิดหนึ่ง ชื่อ Pityriasis ovale ที่อาศัยอยู่ในรูขุมขนของเรา และไปกระตุ้นทำให้ผิวหนังอักเสบครับ

เดิมทีคนมักคิดว่าโรคนี้มักเกิดกับเฉพาะแต่ฝรั่งเมืองหนาวครับ แต่ปัจจุบันคนไทยเป็นกันเยอะมากขึ้น มักเชื่อกันว่าการอยู่ในห้องแอร์ทำให้เกิดโรคเซ็บเดิม แต่ในความเป็นจริงแอร์ที่เราเปิดกันอยู่ก็มักจะไม่ต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าไม่เย็นจัดสักเท่าไรนัก แต่คนไทยก็ยังเป็นโรคนี้กัน ดังนั้นอุณหภูมิในอากาศที่แห้งในแอร์หรือฤดูหนาวจึงอาจเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ไปกระตุ้นอาการอักเสบที่มีอยู่แล้ว ทำให้อาการของโรคแสดงออกมามากและรุนแรงขึ้น ยิ่งมีความเครียดและพักผ่อนไม่เพียงพอ การโดนแดดมาก ๆ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาบน้ำร้อน ๆ รับประทานหรือดื่มของที่ร้อนจัด ก็ยิ่งทำให้เป็นการกระตุ้นอาการของโรคครับ

การดูแลรักษา

โรคเซ็บเดิมเป็นโรคที่เป็นเรื้อรัง เนื่องจากอาการของโรคมีลักษณะใกล้เคียงกับโรคผิวหนังชนิดอื่น เช่น โรคสะเก็ดเงิน เพื่อการรักษาที่ตรงจุด ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโรค ความรุนแรงของโรคนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็น แพทย์ผิวหนังจะเป็นผู้จ่ายยาให้เหมาะสมกับลักษณะอาการ ไม่ควรซื้อยาทาเอง เพราะยาแก้อาการอักเสบเหล่านี้มักมีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ ทำให้มีผลข้างเคียงต่อร่างกายได้

การรักษาด้วยยานั้น แพทย์อาจให้ทายาแก้อักเสบในช่วงระยะที่มีผื่นอักเสบบวมแดง หากคันมากอาจให้รับประทานยาแก้แพ้พวก Antihistamine ร่วมด้วย หากมีการติดเชื้อแทรกซ้อน อาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะเพิ่ม ในบางกรณีอาจต้องใช้ยาเพื่อลดยีสต์หรือเพื่อลดการแบ่งตัวของเซลล์ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

บางคนที่เป็นโรคเซ็บเดิมนึกว่าตัวเองหน้าลอกเป็นขุยเพราะผิวสกปรก ก็ยิ่งไปขัดถู สครับหน้า ลอกหน้า ล้างหน้าบ่อย ๆ เป็นสิ่งที่ต้องห้ามทำเด็ดขาด เพราะจะทำให้อาการยิ่งกำเริบ วิธีการรักษาโรคเซ็บเดิมที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ทาครีมบำรุงที่หน้า ครีมที่ใช้ไม่จำเป็นต้องเข้มข้นมากเพราะจะทำให้เหนียวเหนอะหนะ ควรทาบ่อย ๆ จะดีกว่า ครีมกันแดดก็ทาได้เหมือนเดิม งดใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หรือน้ำหอม ไม่แคะแกะเกาบริเวณผิวหนังที่ลอก หลีกเลี่ยงการใช้น้ำอุ่นล้างหน้าเพราะน้ำอุ่นทำให้หน้าแห้ง
 ให้ใช้น้ำเย็นแทน ไม่ควรใช้สบู่ที่เป็นด่างล้างหน้า แนะนำให้ล้างหน้าด้วยน้ำเปล่า และอย่าล้างบ่อย หากเป็นมาก ๆ เป็นหลายตำแหน่ง หรือคันแล้วเกาจนเป็นแผล ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะแผลอาจติดเชื้อแทรกซ้อนได้

โรคเซ็บเดิร์มเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย และมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ อาการของโรคอาจมากน้อยต่างกันไปในแต่ละบุคคล ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น พักผ่อนให้เพียงพอ
 ออกกำลังกายให้เหมาะสม พยายามอย่าเครียด หลีกเลี่ยงความร้อนและแสงแดด รวมทั้งรับประทานผักผลไม้ให้มาก ๆ ไม่ใช่แค่เพียงสุขภาพผิวจะดีขึ้นเท่านั้นสุขภาพกายและจิตก็จะแข็งแรงขึ้นด้วย

Previous
Previous

Dandruff(รังแค)

Next
Next

Desiccants and allergic rashes(สารดูดความชื้น กับผื่นแพ้สัมผัส ภัยใกล้ตัวน้อง ที่คุณแม่ควรรู้)