Seborrheic keratosis(กระเนื้อ)

เมื่ออายุมากขึ้น สิ่งที่สังเกตได้ชัดคือความเปลี่ยนแปลงบริเวณผิวหนังที่มีลักษณะเป็นตุ่มแบน เม็ดเล็กๆเรียกว่า กระเนื้อ ซึ่งเป็นผลจากความเจริญผิดปกติของผัวหนัง มีสีแตกต่างกัน ตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงสีดำ มีขอบเขตชัดเจน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับคนอายุ 40 – 50 ปี พบได้น้อยในคนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี

ที่มาของกระเนื้อ

สันนิษฐานได้ว่ากระเนื้อเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน พบมากในผู้สูงอายุ การเกิดขึ้นของกระเนื้อจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังตามอายุ นอกจากนี้กระเนื้อยังสามารถเกิดขึ้นกับผู้หญิงตั้งครรภ์ได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย สามารถพบกระเนื้อได้ทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหน้าอก หลัง ใบหน้า คอ และหนังศีรษะ

การวินิจฉัยกระเนื้อ

หากผู้ป่วยไม่มั่นใจว่าเป็นกระเนื้อหรือไม่ สามารถมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนัง เพื่อขอคำปรึกษาและทำการวินิจฉัยกระเนื้อ เพราะยังมีโรคผิวหนังที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น หูด ไฝ จุดด่างดำบนผิวหนังที่เกิดจากการโดนแดดเป็นเวลานาน และโรคมะเร็งผิวหนังบางชนิด โดยแพทย์จะทำการซักถามประวัติอาการของผู้ป่วย ในกรณีที่รอยโรคไม่ชัดเจนต้องทำการส่องกล้องตรวจผิวหนัง (Dermatoscopy) เพื่อดูโครงสร้างของผิวหนังและความผิดปกติของเม็ดสีผิว อีกวิธีหนึ่งคือการเก็บตัวอย่างบริเวณที่เกิดกระเนื้อ เพื่อส่งตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา โดยการส่องผ่านกล้องจุลทัศน์ (Skin Biopsy)

การรักษากระเนื้อ

วิธีการรักษากระเนื้อที่ได้ผลและมีประสิทธิภาพคือการใช้คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ (CO2) เป็นเลเซอร์ที่มีความยาวคลื่น 10,600 นาโนเมตร สำหรับตัดกระเนื้อออก การรักษาด้วยเลเซอร์ CO2 จะทำให้เกิดแผลตื้นไป

จนถึงลึกในระดับชั้นผิวที่มีปัญหาอยู่ ก่อนยิงเลเซอร์ต้องทำความสะอาดผิวแล้วทายาชาทิ้งไว้ประมาณ 30 – 45 นาที จากนั้นจึงทำการยิงเลเซอร์ หลังการรักษาผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำ 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นให้หมั่นทำความสะอาดและทายาบริเวณแผลประมาณ 4 – 5 ครั้งต่อวัน ระหว่างนี้ไม่ควรเผชิญแสงแดดและงดใช้เครื่องสำอางหรือสารเคมีบริเวณแผล ซึ่งแผลจะหายไปเองภายใน 1 สัปดาห์ และรอยแดงจะค่อยๆ จางลงภายใน 1 – 2 เดือน

กระเนื้อสามารถพัฒนาเป็นมะเร็งผิวหนังได้หรือไม่?

โดยทั่วไปกระเนื้อจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามอายุของคนเรา เป็นโรคผิวหนังที่ไม่รุนแรง แต่จะส่งผลในเรื่องของความสวยงามเท่านั้น ที่สำคัญกระเนื้อไม่สามารถพัฒนาเป็นมะเร็งผิวหนังได้ ผู้ที่มีกระเนื้อจึงต้องหมั่นดูแลตัวเอง ทาโลชั่นบำรุงผิว และควรสังเกตการเปลี่ยนแปลงของรอยโรคเป็นประจำ

ถึงแม้ว่ากระเนื้อจะไม่ใช่โรคอันตรายร้ายแรง แต่ก็ส่งผลในเรื่องความงามไม่น้อย การป้องกันผิวไม่ให้โดนแสงแดดโดยตรงจึงเป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้นจึงควรทาครีมกันแดด รวมถึงสวมใส่เสื้อผ้าที่ช่วยปกป้องผิวจากแสงแดดได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระเนื้อก็จะไม่ถามหา แถมผิวพรรณยังดูเนียนใสได้อีกด้วย

Next
Next

Vascular birthmark (ปานแดงในเด็ก)