Desiccants and allergic rashes(สารดูดความชื้น กับผื่นแพ้สัมผัส ภัยใกล้ตัวน้อง ที่คุณแม่ควรรู้)
สารดูดความชื้น และผื่นแพ้สัมผัส
สารไดเมธิลฟูมาเรท (Dimethyl Fumarate หรือ DMF) เป็นสารเคมีที่ไม่มีสีและกลิ่น ใช้ในการป้องกันเชื้อราจากความชื้นในการเก็บสินค้าในโกดังและระหว่างการขนส่ง ส่วนใหญ่ใช้กับเครื่องใช้อุปโภคเช่น เฟอร์นิเจอร์หนัง รองเท้า โดยทั่วไป DMF มักบรรจุในซองขนาดเล็กติดไว้ด้านในของเฟอร์นิเจอร์ รองเท้า หมวกกันน๊อค เสื้อผ้า อุปกรณ์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เคยมีรายงานในต่างประเทศพบผลิตภัฑณ์ที่มีสารไดเมธิลฟูมาเรทในปริมาณที่สูงทำให้เกิดอาการแพ้ทางผิวหนังอย่างรุนแรง โดยการแพ้ที่เกิดจากการสัมผัสสาร DMF กับผิวหนัง อาจก่อให้เกิดการแพ้ชนิดผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส (contact dermatitis) ผื่นแพ้ที่เกิดจากการสัมผัสโซฟาที่มีสาร DMFก่อให้เกิดอาการแบบที่น้องมีผื่น รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า Sofa dermatitis
สารดูดความชื้นที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในท้องตลาดมีอยู่ 3 ชนิด
1. ชนิดแรกคือ ซิลิก้าเจล สกัดจากทรายขาวผสมกรดกำมะถัน มี 3 สีคือ ขาว น้ำเงิน และส้ม คุณสมบ้ติใกล้เคียงกัน ต่างกันที่การใส่สารเพิ่มลงไปเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการดูดความชื้นมากขึ้น ส่วนใหญ่เมืองไทยจะใช้ชนิดเม็ดสีขาว ซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดความชื้นประมาณ 35-40% อีกชนิดที่นิยมใช้คือสารดูดความชื้นสีน้ำเงิน ซึ่งเมื่อเปลี่ยนเป็นสีชมพูหรือสีม่วงอ่อนแสดงว่าหมดอายุในการใช้งาน และควรเปลี่ยนสารกันความชื้นใหม่
2.ชนิดที่ 2 คือ สารกันความชื้นจากธรรมชาติ ผลิตจากดินไดอะตอม เยื่อกระดาษซึ่งมีข้อดีคือ ไม่เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
3.ชนิดที่ 3 สารดูดความชื้นที่ผลิตจากแคลเซียมอ๊อกไซด์ ซึ่งมีคุณสมบัติ ในการ ดูดความชื้น ประมาณ 28 %
การใช้สารดูดความชื้นให้ได้ผลดี ส่วนใหญ่ผู้ผลิตจะบรรจุสินค้าพร้อมสารกันชื้น ในหีบห่อที่ปิดสนิทไม่มีรอยรั่วให้อากาศผ่านเข้าไปได้ และในปริมาณที่เหมาะสมกับขนาดของหีบห่อและชนิดของสินค้า หากต้องใช้ถุงดูดความชื้นที่มีสาร DMF จะต้องมีปริมาณสารไม่เกิน 0.1 mg/KG เนื่องจากสาร DMF อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาจทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง เกิดอาการระคายเคือง คัน เป็นผื่นแดงและถึงกับผิวไหม้ได้ นอกจากนี้อาจมีผลกับระบบทางเดินหายใจด้วย
ปัจจุบันพบเด็กเป็นผื่นแพ้สารสัมผัสได้บ่อยขึ้น ส่วนใหญ่จะแพ้สิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวัน สำคัญที่สุด คือ ต้องหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดผื่น ปัจจุบันมีการผลิตสารเคมีชนิดใหม่ๆมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของผื่นแพ้ได้ ในเด็กบางรายอาจพบว่าผื่นเป็นมากขึ้นเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้น เช่น การสัมผัสสารระคายเคือง การว่ายน้ำในสระที่มีคลอรีน การใช้ผ้าขนสัตว์ อาบน้ำร้อน ผิวแห้ง อากาศร้อนและอากาศหนาว ซึ่งถ้ามีผื่นควรพาไปพบคุณหมอนะคะ