เด็กดักแด้ Desquamation at birth สาเหตุที่พบได้ เกิดจากอะไร?
เด็กดักแด้ Desquamation at birth
คุณแม่พาน้องอายุ 4 วันมาพบคุณหมอ เนื่องจากคุณแม่สังเกตว่า หนังบริเวณปลายนิ้วมือและนิ้วเท้าเริ่มลอก คุณแม่ไม่สบายใจ ไม่แน่ใจว่าเกิดจากสาเหตุอะไร มือเท้าลอกในเด็กแรกเกิด เป็นภาวะที่ปกติมั้ย แล้วน้องจะกลายเป็นเด็กดักแด้มั้ยคะ?
เด็กเล็กๆ หลังคลอดในช่วงสัปดาห์แรก พบลอกบริเวณปลายมือปลายเท้าได้ค่ะ เราเรียกภาวะนี้ว่า Desquamation at birth สาเหตุที่พบได้ เกิดจาก
- Physiogic desquamation เป็นภาวะที่พบได้ปกติในทารกแรกเกิด โดยลอกบริเวณมือ เท้าและข้อเท้า ลักษณะเป็นขุยบางๆ เล็กๆ ซึ่งหายใน 2 สัปดาห์
- Postmature desquamation พบได้ในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เกินกำหนด หรือ ทารกคลอดออกมาหลังคุณแม่ตั้งครรภ์เกิน 42 สัปดาห์ ผิวหนังแห้งแตก เหี่ยวย่น และหลุดลอก เนื่องจากสูญเสียไขมันใต้ผิวหนัง
- Postinflammatory desquamation เป็นการลอกที่พบภายหลังการอักเสบ เช่น การติดเชื้อรา
- Continual peeling skin syndrome เป็นโรคผิวหนังที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ผิวหนังหลุดลอกง่ายหลังคลอด โดยผิวหนังจะลอกเป็นขุยเล็กๆทั่วตัว ใบหน้า แต่จะไม่ลอกบริเวณแขน ขา โดยจะมีอาการผิวแห้งเป็นขุยตลอดชีวิต
- Ichthyosis vulgaris โรคผิวหนังแห้งแต่กำเนิด เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมแบบยีนเด่น อาการจะเป็นมากตอนเด็ก เมื่อโตขึ้นอาการจะค่อยๆดีขึ้น ผิวหนังจะแห้ง เป็นขุย มีรอยแตกและคันเล็กน้อย
- Lamella ichthyosis “เด็กดักแด้” เกิดจากความผิดปกติของผิวหนังที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรืออาจเกิดจากยีนของเด็กเปลี่ยนแปลงเอง Harlequin ichthyosis เป็นชนิดที่รุนแรงที่สุด โรคนี้พบได้น้อยมากในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะคลอดก่อนกำหนดหรือเสียชีวิตตั้งแต่แรกเกิด อุบัติการณ์ 1 ต่อ 200,000-300,000 ของทารกแรกเกิด ผิวหนังจะเป็นแผ่นหนา แตกเป็นร่องลึก บริเวณใบหน้า จมูกจะแบน ใบหูมีลักษณะผิดรูป ผิวหนังตึงรั้ง แขนขาจะงอ และมีนิ้วมือ นิ้วเท้าที่ขนาดเล็ก หน้าอกจะมีผิวหนังที่ตึงรั้ง อาจมีอาการหายใจไม่สะดวกร่วมด้วย เด็กๆที่เป็นโรคนี้จะทำให้สูญเสียน้ำผ่านผิวหนังมากกว่าปกติ ผิวแตกเป็นร่องทำให้มีการติดเชื้อแทรกซ้อนที่ผิวหนังได้ ส่วนหนังตาปิดไม่สนิท ทำให้เกิดแผลที่กระจกตา ปากปิดได้ไม่สนิท ทำให้การดูดและการกลืนได้น้อยกว่าปกติ
การรักษา แรกเกิดคุณหมอจะให้อยู่ในตู้อบ เพื่อช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ดูแลเรื่องสารน้ำและเกลือแร่ ป้องกันการติดเชื้อบริเวณผิวหนังและกระจกตา และทาครีมเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง ในเด็กที่มีอาการรุนแรงอาจมีการพิจารณาให้ยากลุ่มวิตามินเอ ซึ่งจะช่วยควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังและช่วยลดความรุนแรงของโรคลงได้ แต่เนื่องจากยาต้องรับประทานตลอดชีวิตและอาจมีผลข้างเคียงทางตับและกระดูกจึงควรอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์เฉพาะทางนะคะ