Birthmarks รอยตำหนิที่พบได้ในทารกแรกเกิด

Birthmarks

Birthmarks รอยตำหนิที่พบได้ตั้งแต่แรกเกิด พบได้บ่อยในทารกแรกเกิดหรือภายในเดือนแรก ซึ่งคุณแม่หลายท่านก็กังวลว่า ปานเมื่อโตขึ้นจะจางได้มั้ย หรือมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นเนื้อร้ายมั้ย ต้องตัดออกเลยมั้ยคะ จะเป็นแผลเป็น?? รักษาด้วยเลเซอร์หายมั้ยคะ

ไฝหรือปาน เป็นสีผิวหนังที่คล้ำผิดปกติจากการมีการเพิ่มจำนวนของเม็ดสีผิว ส่วนใหญ่ไฝจะนูนขึ้นจากผิวหนังเล็กน้อย แต่จะพบได้ทั้งลักษณะแบนราบ นูน ขรุขระ หรือเป็นก้านยื่นออกมา มีทั้งมีขนและไม่มีขน เมลาโนไซด์ (melanocytes) คือ เซลล์ที่ผลิตเม็ดสีผิว ซึ่งเรียกว่าเมลานิน (melanin) ความผิดปกติของสีผิวเกิดจากการทำงานของเมลาโนไซด์ที่ผิดปกติ หรืออาจเกิดจากการที่มีเมลาโนไซด์มากขึ้นหรือลดลง

ปานแต่กำเนิดที่พบได้บ่อย ได้แก่

1. Hyperpigmented Birthmarks หมายถึงปานในกลุ่มสีเข้ม เช่น สีน้ำตาล สีดำ เกิดจากการสะสมของเม็ดสีจำนวนมากบริเวณชั้นใต้ผิวหนัง

  • Mongolian spots ปานมองโกเลียน เป็นผื่นสีน้ำตาลอมเทา เขียวเข้มอมน้ำเงิน พบได้บ่อยบริเวณก้นและสะโพก แต่อาจพบบริเวณอื่นเช่นแขนขาได้ เมื่อเด็กโตขึ้นปานจะค่อยๆจางลง เหลือเพียงร้อยละ 3-4 ในเด็กที่อายุมากกว่า 5 ปี แต่ถ้าคุณแม่รู้สึกว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นและมีขนาดใหญ่ ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาเพิ่มเติม เนื่องจากอาจพบปานร่วมกับโรค Hunter syndrome และ GM1 gangliosidosis ได้

  • Café-au-lait spots ปานสีกาแฟใส่นม เป็นผื่นสีน้ำตาลอ่อน พบได้ร้อยละ 0.3-18 ของทารกแรกเกิด โดยจะเพิ่มจำนวนและขนาดขึ้น เมื่อายุมากขึ้น พบได้ทั้งทรงกลม ทรงรี พบได้ทุกบริเวณของร่างกาย ถ้ามี Café-au-lait spots แค่ 1-2 อัน ไม่ต้องกังวล แต่ถ้าหลังลูกอายุ 5 ปีพบ Café-au-lait spots ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 5 มิลลิเมตรและมีจำนวนมากกว่า 5 อันอาจพบได้ในโรคท้าวแสนปม(Neurofibromatosis) ซึ่งโรคผิวหนังที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยมีลักษณะเฉพาะทางผิวหนังและพบร่วมกับอาการผิดปกติในระบบอื่นได้ด้วย เช่น ตา กระดูก สมอง และความดันโลหิตสูง ถ้าปาน Café-au-lait spots ที่มีขนาดใหญ่มากยังนึกถึงโรค McCune-Albright syndrome ได้อีกด้วยค่ะ

  • Congenital melanocytic nevi เป็นปานสีดำที่พบตั้งแต่แรกเกิดหรือภายในอายุ 2-3 เดือน เกิดจากการแบ่งตัวเพิ่มของเซลล์ที่สร้างเม็ดสี มีทั้งเป็นผื่นราบและนูน สีดำ น้ำตาลเข้า กรณีปานมีขนาดใหญ่บริเวณไขสันหลังอาจพบร่วมกับความผิดปกติของโรคทางสมองได้ด้วย ซึ่งถ้าปานชนิดนี้โตเร็ว สีเปลี่ยนไป ควรติดตามการรักษา เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังได้

  • Nevus of Ota and Ito ปานโอตะเป็นปานสีน้ำเงินอมเทา หรือน้ำเงินดำ บริเวณใบหน้า ขอบตา ขมับ พบตามผิวหนังตรงตำแหน่งที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาทคู่ที่ 5 แขนงที่ 1 หรือ 2 มักพบด้านเดียว พบในเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กชาย 1 ใน 3 พบได้ตั้งแต่แรกเกิด แต่บางรายพบตอนเข้าสู่วัยรุ่น กรณีพบที่ลำตัวท่อนบนด้วย เรียก Nevus of Ito เด็กๆที่เป็นปานโอตะใกล้ๆตาจะมีโอกาสเป็นต้อหินได้ เนื่องจากมีการสะสมของเซลล์เม็ดสีในเยื่อบุตา จึงควรติดตามอาการกับจักษุแพทย์ด้วย เมื่อเด็กโตขึ้น สามารถรักษาได้ด้วยเลเซอร์ เช่น Q-switched ruby หรือ Nd:YAG

2. Hyperpigmented Birthmarks ปานสีขาวที่พบในทารกแรกเกิด

  • Nevus depigmentosus หรือ Hypomelanosis of Ito เป็นปานสีขาว ขอบหยัก รูปรี พบได้ตั้งแต่แรกเกิด มักพบที่เดียว ปกติไม่ต้องรักษา

  • Ash leaf spots ลักษณะเป็นวงรี สีขาว ขนาด 2 -12 มิลลิเมตร ส่วนใหญ่พบตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งถ้าคุณหมอตรวจพบ Ash leaf ให้เฝ้าระวังโรค Tuberous sclerosis

ส่วนหนึ่งของ birthmark ที่พบในเด็กทารกแรกเกิด เมื่อโตขึ้นจะหายได้เอง โดยไม่ต้องรับการรักษา ปานบางชนิดจะคงอยู่ตลอดชีวิต บางชนิดพบร่วมกับความผิดปกติของโรคอื่น ถ้าลูกมีปานแล้วไม่แน่ใจว่าเป็นปานชนิดไหน ควรไปปรึกษาคุณหมอนะคะ

Previous
Previous

เด็กดักแด้ Desquamation at birth สาเหตุที่พบได้ เกิดจากอะไร?

Next
Next

โรคกลุ่มเซลล์ผิดปกติ Langerhans cell histiocytosis LCH